ปั่นย้อนรอยดูบ้านป้าอยู่และบึงบัวในอดีตเทียบกับปัจจุบัน และการพัฒนาพื้นที่สีเขียวริมคลองบึงบัว
อย่างที่เราเคยเล่าถึงความเป็นมาของบ้านป้าอยู่ในอดีตให้ได้พอทราบไปแล้วบ้าง วันนี้จะชวนทุกคนลุกขึ้นมาปั่นจักรยานสำรวจบึงบัวผ่านภาพถ่ายเทียบอดีตกับปัจจุบันกันครับ
ข้อมูลเบื้องต้น
- สำหรับแขกที่พักให้ยืมจักรยานฟรี ส่วนบุคคลภายนอกเช่าปั่น ชม.ละ 20 บาท
- ใช้เวลาปั่นโดยประมาณ 1.30 ชม. ถึง 2 ชม. แล้วแต่บุคคลและระยะเวลาในการแวะพักจุดต่างๆ
- ระยะทางต่อรอบโดยประมาณ 5 กม. ปั่นตามเส้นประสีแดง เส้นทางช่วงแรกจะเป็นทางปั่นเลียบคลองบึงบัว จะใช้ถนนร่วมกับมอเตอรไซต์ ปั่นด้วยความระมัดระวัง จากนั้นจะเป็นการปั่นบนฟุตบาท ตามถนนหลัก ช่วงถนนเจ้าคุณทหารและคุ้มเกล้า เพื่อความปลอดภัย
เราเริ่มต้นกันที่บ้านป้าอยู่ เวลาที่แนะนำและเหมาะสมคือช่วงเวลาเย็นประมาณ 16.00 เป็นต้นไป ในการออกสตาร์ทเดินทางไปยังจุดแวะพักแรกซึ่งไกลมากๆๆ ใช้เวลาปั่น 120 วินาที ฮ่า ก็จะถึงเจดีย์ศรีปทุมมงคล ณ วัดบึงบัว
ภายในองค์เจดีย์จะเป็นที่ประดิษฐ์สถานของพระบรมสารีริกธาตุ ที่เปิดให้พุทธศาสนิกชนและบุคคลทั่วไปได้สักการะขอพร ซึ่งตัวเจดีย์ถูกสร้างขึ้นช่วงปี พ.ศ.๒๕๕๐ โดยความตั้งใจของหลวงพ่อ เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน พระครูศรีปทุมมาภินันท์ โดยตัวเจดีย์ตั้งอยู่ริมคลองบึงบัว ซึ่งแต่เดิมพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่โล่งกว้างมีคลองบึงบัวกั้นระหว่างพื้นที่ฝั่งวัดกับพื้นที่เกษตรกรรมฝั่งตรงข้าม เรามาตามดูกันว่าผ่านไป ๕๐ ปี พื้นที่แห่งนี้จะเปลี่ยนไปมากขนาดไหน
จุดที่ 1 บริเวณท่าน้ำหน้าวัด
จากภาพถ่ายน้องสาวป้าอยู่ที่ยืนคู่กับลูกชาย เทียบกับปัจจุบันในมุมที่่ใกล้เคียงกัน จุดสังเกตคือโบสถ์ด้านหลังซึ่งจำไม่ได้แน่ชัดว่าเริ่มสร้างใน พ.ศ. ใดกันแน่ แต่คาดคะเนได้ว่าอยู่ในช่วง พ.ศ. ๒๕๐๐ ต้นๆ กินเวลาสร้างหลายปี สมัยนั้นใครมีกำลังทรัพย์ก็ทำบุญบริจาคเป็นเงินทอง ส่วนใครไม่มีกำลังทรัพย์มากพอก็จะลงมือลงแรงช่วยกันทำตามกำลังศรัทธา ต้นโพธิ์ได้ถูกถอดย้ายออกไประหว่างการดำเนินการสร้างองค์เจดีย์
จุดที่ 2 บริเวณตีนสะพานข้ามคลองบึงบัว
จากภาพถ่ายในอดีตเป็นภาพถ่ายสะพานข้ามคลองบึงบัว เป็นสะพานไม้ขนาดเล็ก ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าสะพานได้ถูกก่อสร้างใหม่เป็นสะพานปูนเผื่อรองรับการสัญจรที่มากขึ้นของคนฝั่งชุมชนข้ามไปทำงานฝั่งนิคมอุตสาหกรรม โดยตั้งชื่อตามหลวงพ่อ เจ้าอาวาสวัดบึงบัวรูปก่อนหน้านี้คือ พระครูวิบูลย์ ปัญญาธร (หลวงพ่อชิ้น)
จุดที่ 3 บริเวณท่าน้ำทางเดินริมคลองหน้าวัด
บริเวณนี้จะเป็นที่ตั้งศาลาท่าน้ำหน้าวัดสำหรับนั่งพัก ขึ้นลงเรือที่สัญจรมาขึ้นที่หน้าวัด ฉากหลังจะมองเห็นเพิงจากร้านก๋วยเตี๋ยวป้าอยู่ตั้งอยู่นั่นเอง
หลังจากย้อนอดีตกับบ้านป้าอยู่และวัดบึงบัวแล้ว เรามูฟออนไปกันที่เส้นทางปั่นเลียบคลองบึงบัว ชมวิถึชีวิต พื้นที่สีเขียวและการอาศัยอยู่ร่วมกันของชุมชนและเขตอุตสาหกรรม
พื้นที่สีเขียวที่ถูกรักษาและพัฒนามองเห็นคุณค่าของธรรมชาติของคนในชุมชน
ตลอดเส้นทางเลียบคลองบึงบัวจะเห็นถึงความสวยงาม ความร่มรื่นของต้นไม้ที่ขึ้นเองตามธรรมชาติและคณะกรรมการชุมชนที่ร่วมกับปลูกขึ้นมาเพิ่มเติม ร่วมทั้งพื้นที่ว่างริมตลิ่งที่คนในชุมชนอาศัยเป็นแปลงเกษตรปลูกผักสวนครัวไว้กินและเก็บขาย หารายได้พิเศษ
ปั่นเลียบคลองมาเรื่อยๆ จะพบกับต้นทองอุไรและทิวต้นไม้ที่คนในชุมชนกับหน่วยงานภายนอกร่วมกันปลูกเมื่อปี ๒๕๖๑ ผ่านไป ๔ ปีต้นไม้สูงใหญ่ขึ้นมาก จุดนี้ถือเป็นจุดสังเกตให้เราเตรียมตัวเปลี่ยนเส้นทางเลี้ยวขวาข้ามคลองที่สะพานขาว เพื่อไปยังจุดแวะพักของเราต่อไปคือแคมป์นายพลฟิชชิ่งพาร์ค เราจะแวะดื่มน้ำและชมธรรมชาติผ่อนคลายกันที่จุดนี้ก่อนเดินทางต่อ
บ่อปลาที่เป็นพื้นที่เชิงเกษตรกรรมที่หลงเหลือไม่กี่แห่งของชุมชน ซ่อนอยู่ทามกลามเขตอุตสาหกรรมและชุมชน กลายเป็นพื้นที่สีเขียวแห่งใหญ่ของชุมชนให้ได้ชื่นชน ศึกษาธรรมชาติ
เอาหล่ะครับ ถ้ามาถึงจุดนี้ก็ถือว่ามาได้เกือบครึ่งทางของเส้นทางปั่นแล้ว โอกาสหน้าเราจะมาอัพเดตเส้นทางและจุดแวะพักพร้อมเรื่องราวต่างๆเพิ่มเติมนะครับ
Pingback: Sawasdee! - Baanpayoo