แบ่งปันเรื่องราวตลอด 4 ปีของการพยายามทำกิจกรรมท่องเที่ยวชุมชนบึงบัว

สวัสดีครับ ถึงช่วงนี้คาเฟ่และที่พักจะปิดให้บริการชั่วคราวเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด วันนี้ผมขออนุญาติแบ่งปันภาพและเรื่องราวกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศชุมชนบึงบัวทางน้ำ ที่เราได้เริ่มเมื่อเกือบ 4 ปีที่แล้ว รวมถึงวิสัยทัศน์และเป้าหมายในอนาคตอันใกล้นี้

 

 

แรงบันดาลใจและการสำรวจคลองบึงบัว คลองลำชวดเตย เส้นทางสัญจรทางน้ำในสมัยก่อน

จริงๆแล้วตัวผมเองก็เพียงได้แต่ได้รับฟังจากคำบอกเล่าของแม่ และยาย(ป้าอยู่) ถึงการเดินทางสัญจรทางเรือในสมัยก่อนจากบ้านริมคลองบึงบัวไปที่ตลาดหัวตะเข้ ไปโรงเรียนพรตฯ กอปรกับตอนนั้นผมพยายามมองหากิจกรรมที่สร้างประสบการณ์และคุณค่าให้กับตัวที่พัก จึงเกิดแนวคิดในการนำเสนอการท่องเที่ยวทางน้ำในกับนักท่องเที่ยวโดยมีจุดเริ่มต้นคือท่าน้ำหน้าวัด ผ่านคลองบึงบัว คลองลำชวดเตย ออกคลองลำปลาทิว ปลายทางที่ตลาดเก่าริมน้ำหัวตะเข้

ภาพถ่ายท่าน้ำหน้าวัดบึงบัวปี พ.ศ. 2516 จากบ้านป้าอยู่สมัยก่อนที่จะย้ายมาอยู่ฝั่งวัด

แม่เล่าย้อนไปถึงสมัยพายเรือจากบึงบัวมาเรียนโรงเรียนพรต มาจอดที่บ้านป้ายิ่ง ลุงยศ เดินผ่านโรงระหัดไปเรียน ซึ่งสถานที่ดังกล่าวปัจจุบันก็ยังมีปรากฎอยู่ ตลาดริมน้ำหัวตะเข้คือศูนย์กลางการค้าขายในสมัยนั้นของชาวลาดกระบัง ซึ่งจุดประกายให้เรามองภาพตลาดเก่าหัวตะเข้ซึ่งเป้นปัจจุบันมีชื่อเสียงในระดับหนึ่งในแง่ของการท่องเที่ยวชุมชน เป็นศูนย์กลางในการกระจายกิจกรรมท่องเที่ยวไปยังชุมชนอื่นโดยรอบ ซึ่งเราก็ว่าชุมชนบึงบัวจะเป็นหนึ่งในนั้น

วิถีชีวิตของชาวบึงบัว ชุมชนเกษตรกรรมในอดีตที่มีคลองกันระหว่างชุมชนกับเขตอุตสาหกรรม

ทริปล่องเรืออย่างเป็นทางการครั้งแรกปี 2560 ขอบคุณลุงแดง บรรเจิด เครือคล้าย ที่รับหน้าที่พลขับเรือพาเราไปส่งยังจุดหมายพร้อมทั้งเล่าถึงเรื่องราวย้อนความหลังสมัยก่อน จากทุ่งท้องนาเป็นเขตโรงงานงานอุตสาหกรรม มือที่เคยเกี่ยวข้าวในนาการเปลี่ยนเป็นการกดปุ่มเครื่องจักรกล รวมถึงทักทายชาวบ้านริมคลองที่ออกมายกยอให้เราผ่านทาง ลุงแดงรู้จักคลองและเส้นทางสัญจรนี้เป็นอย่างดี

 

นักท่องเที่ยวชาวอเมริกัน กับประสบการณ์กับรับรู้ถึงวิถึชีวิตชาวคลองบึงบัว

เนื่องด้วย ตอนนั้นแกเป็นหนึ่งในทีมงาน ผู้พิทักษ์สายน้ำ ที่จัดตั้งโดยศูนย์เรียนรู้ชุมชนบึงบัว เพื่อคอยรักษาความสะอาดรวมถึงความสะดวกในการสัญจรจากวัชพืช รวมถึงต้นไม้ที่ปลูกตามพื้นที่ว่างริมฝั่งคลองเพื่อเพิ่มทัศนียภาพและพื้นที่สีเขียวให้กับชุมชนโดนมีลุงสมศํกดิ์ นาคสุขเป็นหัวหน้าทีม ซึ่งในบางครั้งที่ลุงแดงติดภารกิจที่วัด ก็ได้ลุงสมศักดิ์ เป็นคนขับเรือนำทางพวกเราไป คลองในปัจจุบันที่นอกจากเป็นทางสัญจรระยะสั้นของคนรุ่นก่อนแล้ว ยังเป็นแหล่งทรัพยากรให้คนริมคลองได้ใช้ประโยชน์ดำรงชีพปลูกผักแว่น ผักกระเฉดไว้รับประทานและขายอีกด้วย และขอขอบคุณพี่เบียร์ อนันต์ธนา มงคลศิริ ที่ได้นำเรื่องราวของเราชาวบึงบัวไปเล่าถึงวิถีชืวิตในคลอง ผ่านรายการ ที่นี่บ้านเรา ท่างช่อง TPBS สามารถคลิกชมเรื่องราวเพิ่มเติมได้ที่คลิปด้านล่าง

 

ลุงสมศักดิ์ กับนักท่องเที่ยวชาวสิงค์โปรที่สี่แยกหัวตะเข้

ศูนย์เรียนรู้ชุมชนบึงบัวกับการทำงานของคนสองเจนเนอเรชั่นที่มีเป้าหมายเดียวกันและการพยายามปรับภาพลักษณ์ผลิตภัณฑ์ของชุมชน

ต้องขอบคุณหัวหน้าศูนย์เรียนรู้ชุมชนบึงบัว อาจารย์ยุพล สมปาง ที่ให้การสนับสนุนและมองเห็นโอกาสถึงความเป็นไปได้ในการจัดกิจกรรมในลักษณะการท่องเที่ยวเชิงนิเวศทางคลองไว้ก่อนหน้านี้ รวมถึงการสร้างต้นทุนทางสภาพแวดล้อมตลอดสองฝั่งคลองบนพื้นที่รกร้างริมคลองผ่านกิจกรรมการปลูกต้นไม้สร้างพื้นที่สีเขียวที่เริ่มมาก่อนหน้านี้แล้วหลายปี ในส่วนของศูนย์เรียนรู้เองได้ถูกใช้เป็นสถานที่สำหรับจัดกิจกรรมอบรมส่งเสริมความรู้ทางการเกษตรให้กับคนในชุมชม และตอนนั้นเราได้พยายามนำเสนอประสบการณ์การท่องเที่ยวผ่านทางวัฒนธรรอาหารเมนูพื้นถิ่น จากวัตถุดิบที่ปลูกในแปลงเกษตรของชุมชนเอง “จากสวนผักสู่โต๊ะอาหาร”

 

คณะอาจารย์และนักศึกษาจากคณะสถาปัตยฯ เทคโนลาดกระบัง
ภาพกิจกรรม “จากสวนผักสู่โต๊ะอาหาร”
ยาหม่องน้ำผลิตภัณฑ์จากศูนย์เรียนรู้ชุมชน https://www.facebook.com/commerce/products/2515295518562738/

 

กิจกรรมปลูกป่าริมคลอง

เจดีย์ ศรีปทุมมงคล ศูนย์รวมความศรัทธาของพุทธศาสนิกชนในชุมชนและแลนด์มาร์คของบีงบัว

สถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัยที่ก่อสร้างจากวิสัยทัศน์ของท่านเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน พระครูศรีปทุมมาภินันท์และแรงศรัทธาของพุทธศาสนิกชนตั้งอยู่ริมคลองบึงบัว ภายได้ในเจดีย์เป็นที่ประดิษฐ์สถานของพระบรมสารีริกธาตุและพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์

นักท่องเที่ยวชาวเยอรมัน เลือกที่พายเรือคายัคสำรวจคลองบึงบัวด้วยตัวเอง

 

การสร้างเครือข่ายท่องเที่ยวไปสู่ชุมชนต่างๆผ่านเส้นทางสัญจรทางน้ำ

ภาพรวมในอนาคตของเส้นทางล่องเรือทางน้ำคงจะไม่ได้มีเพียงเส้นทางคลองบึงบัวแต่เพียงอย่างเดียว แต่เรายังมองไปถึงโอกาสในการแผ่ขยายกิจกรรมในลักษณะดังกล่าวไปยังชุมชมอื่นๆโดยรอบได้อีกมากมายผ่านการสัญจรทางคลองน้อยใหญ่ที่เชื่อมต่อถึงกันไม่ว่าเป็นชุมชนลำพุธทรา ชุมชนทิพพาวาส ชุมชนคลองเจ็ก

แผนที่ท่องเที่ยวที่เราวาดภาพไว้ในอนาคต

ด้วยความที่ผมและคุณเชี้ยวเจ้าของฟาร์มเมล่อน cheaw47 แห่งคลองเจ็ก เป็นเพื่อนกันมาแต่สมัยโรงเรียน พรต เรามีโอกาสแลกเปลี่ยนไอเดียในการดำเนินกิจกรรมท่องเที่ยวทางน้ำในหลายโอกาส การสร้างเครือข่ายการท่องเที่ยวแผ่ไปยังหลายๆพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งตอนนี้คุณเชี้ยวได้เริ่มดำเนินงานในส่วนของทริปล่องเรือผ่านเพจ นาวามาลี https://www.facebook.com/LocalBoatTrip  เคยจัดทริปจากตลาดหัวตะเข้ไปยังฟาร์มเมล่อนของเขาแวะวัดสุทธาโภชน์ น่าเสียดายที่ในช่วงเวลานั้นคลองบึงบัวไม่สามารถสัญจรเข้ามาได้เนื่องจากระดับน้ำขึ้นสูงจนไม่สามารถผ่านสะพานข้ามคลองลำชวดเตยได้

บ้านป้าอยู่ กับวิสัยทัศน์ในอนาคตกับกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

ในส่วนของตัวบ้านป้าอยู่เองนอกจากที่พักและคาเฟ่แล้ว ความสนใจและเป้าหมายอีกอย่างนึกคือการจัดกิจกรรมในเชิงสร้างสรรค์เกี่ยวกับการีไซเคิลขยะในชุมขนโดยเฉพาะขยะพลาสติก ฝาขวดน้ำดื่ม กระสอบข้าวสาร และชวดแก้ว ตอนนี้เรามีพื้นที่และเครื่องมือสำหรับไรเคิลวัสดุดังกล่าวเป็นผลิตภัณท์ใหม่ ทั้งถาดพลาสติก ที่รองแก้ว เทียนหอม และกระเป๋าถือ ที่จะวางขายในคาเฟ่และเครือข่ายท่องเที่ยวต่างๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งกิจกรรม workshop ต่างๆที่เกี่ยวข้องอีกด้วย นอกจากนี้อยากให้มองลาดกระบังในเชิงการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ลาดกระบังที่มิได้มีจุดยุทธศาสตร์สำหรับนักท่องเที่ยวคือที่พักใกล้สนามบินสุววรณภูมิแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังสามารถพัฒนาเป็นเขตท่องเที่ยวนำเสนอประสบการณ์และบรรยกาศของชุมชนท้องถิ่นได้อีกทางในอนาคต ทั้งนี้สามารถอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่พักและคุณค่าที่เราพยายามนำเสนอได้จาก blog ก่อนหน้านี้ครับ https://baanpayoo.com/meet-the-founder-of-baanpayoo-bnb-near-bkk-airport/

กิจกรรมทำเทียนหอมโดยใช้ขวดแก้วที่เป็นขยะในชุมชนมาทำเป็นภาชนะให้กับแขกที่มาพัก

 

ป้าต่อมกับการนำถุงข้าวสารมา ผ่านกระบวนการ upcling เป็นกระเป๋าถือ
สินค้าของเราจากฝีมือคนในชุมชน

ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องราวและความพยายามตลอดเกือบ 4 ปี มีอุปสรรคและปัญหาหลายอย่างที่ทำให้การดำเนินกิจกรรมขาดความต่อเนื่อง กิจกรรมและการดำเนินการบางเรื่องก็อาจที่จะต้องอาศัยการสนับสนุนและความร่วมมือมากขึ้น การมองเห็นภาพและเป้าหมายสอดคล้องไปในทางเดียวกัน  เรื่องราวทั้งหมดนี้คือเรื่องจริง  คือสิ่งที่ได้ลงมือทำและหวังว่าจะได้กลับมาดำเนินงานอีกครั้งเร็วๆนี้ครับ ระหว่างนี้ขอให้ทุกคนดูแลรักษาสุภาพปลอดภัยจากโควิดครับ เราจะกลับมาทันทีที่ทุกคนในครอบครัวได้รับวัคซีนครับผม : )